วันเข้าพรรษา

วันเข้าพรรษา เป็นวันที่พระสงฆ์เถรวาทจะอธิษฐานว่าจะพักประจำอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่ง ตลอดระยะเวลาฤดูฝนที่มีกำหนดเป็นระยะเวลา 3 เดือน ตามที่พระธรรมวินัยบัญญัติไว้ โดยไม่ไปค้างแรมที่อื่น หรือที่เรียกติดปากกันโดยทั่วไปว่า “จำพรรษา” นั่นเอง โดย วันเข้าพรรษา 2562 ตรงกับวันพุธ ที่ 17 กรกฎาคม ซึ่งประวัติวันเข้าพรรษา ความสำคัญ กิจกรรม มีดังนี้ 
“เข้าพรรษา” แปลว่า “พักฝน” หมายถึง พระภิกษุสงฆ์ต้องอยู่ประจำ ณ วัดใดวัดหนึ่งระหว่างฤดูฝน โดยเหตุที่พระภิกษุในสมัยพุทธกาล มีหน้าที่จะต้องจาริกโปรดสัตว์ และเผยแผ่พระธรรมคำสั่งสอนแก่ประชาชนไปในที่ต่าง ๆ ไม่จำเป็นต้องมีที่อยู่ประจำ แม้ในฤดูฝน ชาวบ้านจึงตำหนิว่าไปเหยียบข้าวกล้าและพืชอื่น ๆ จนเสียหาย พระพุทธเจ้าจึงทรงวางระเบียบการจำพรรษาให้พระภิกษุอยู่ประจำที่ตลอด 3 เดือน ในฤดูฝน โดยแบ่งเป็น
       

ปุริมพรรษา หรือ วันเข้าพรรษาแรก เริ่มตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี หรือถ้าปีใดมีเดือน8สองครั้ง ก็เลื่อนมาเป็นวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 หลัง และออกพรรษาในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11

– ปัจฉิมพรรษา หรือวันเข้าพรรษาหลัง เริ่มตั้งแต่ วันแรมค่ำ 1 เดือน 9 จนถึงวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 12

        อย่างไรก็ตามหากมีกิจธุระ คือเมื่อเดินทางไปแล้วไม่สามารถจะกลับได้ในเดียวนั้น ก็ทรงอนุญาตให้ไปแรมคืนได้ คราวหนึ่งไม่เกิน 7 คืน เรียกว่า “สัตตาหะ” หากเกินกำหนดนี้ถือว่าไม่ได้รับประโยชน์แห่งการจำพรรษา จัดว่าพรรษาขาด

สำหรับข้อยกเว้นให้ภิกษุจำพรรษาที่อื่นได้ โดยไม่ถือเป็นการขาดพรรษา เว้นแต่เกิน 7 วัน ได้
1. การไปรักษาพยาบาลภิกษุ หรือบิดามารดาที่เจ็บป่วย
2. การไประงับภิกษุสามเณรที่อยากจะสึกมิให้สึกได้ 
3. การไปเพื่อกิจธุระของคณะสงฆ์ เช่น การไปหาอุปกรณ์มาซ่อมกุฏิที่ชำรุด 
4. หากทายกนิมนต์ไปทำบุญ ก็ไปฉลองศรัทธาในการบำเพ็ญกุศลของเขาได้

          นอกจากนี้หากระหว่าง เดินทางตรงกับวันหยุดเข้าพรรษาพอดี พระภิกษุสงฆ์เข้ามาทันในหมู่บ้านหรือในเมืองก็พอจะหาที่พักพิงได้ตามสมควร แต่ถ้ามาไม่ทันก็ต้องพึ่งโคนไม้ใหญ่เป็นที่พักแรม ชาวบ้านเห็นพระได้รับความลำบากเช่นนี้ จึงช่วยกันปลูกเพิง เพื่อให้ท่านได้อาศัยพักฝน รวมกันหลาย ๆ องค์ ที่พักดังกล่าวนี้เรียกว่า “วิหาร” แปลว่า ที่อยู่สงฆ์ เมื่อหมดแล้ว พระสงฆ์ท่านออกจาริกตามกิจของท่านครั้ง ถึงหน้าฝนใหม่ท่านก็กลับมาพักอีก เพราะสะดวกดี แต่บางท่านอยู่ประจำเลย บางทีเศรษฐีมีจิตศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ก็เลือกหาสถานที่สงบเงียบไม่ห่างไกลจากชุมชนนัก สร้างที่พัก เรียกว่า “อาราม” ให้เป็นที่อยู่ของสงฆ์ดังเช่นปัจจุบันนี้ 

          ทั้งนี้ โดยปกติเครื่องใช้สอยของพระตามพุทธานุญาตให้มีประจำตัวนั้น มีเพียงอัฐบริขาร อันได้แก่ สบง จีวร สังฆาฏิ เข็ม บาตร รัดประคด หม้อกรองน้ำ และมีดโกน และกว่าพระท่านจะหาที่พักแรมได้ บางทีก็ถูกฝนต้นฤดูเปียกปอนมา ชาวบ้านที่ใจบุญจึงถวายผ้าอาบน้ำฝนสำหรับให้ท่านได้ผลัดเปลี่ยน และถวายของจำเป็นแก่กิจประจำวันของท่านเป็นพิเศษในเข้าพรรษา นับเป็นเหตุให้มีประเพณีทำบุญเนื่องในวันนี้สืบมา… 

          อย่างไรก็ตาม แม้การเข้าพรรษาจะเป็นเรื่องของพระภิกษุ แต่พุทธศาสนิกชนก็ถือเป็นโอกาสดีที่จะได้ทำบุญรักษาศีล และชำระจิตใจให้ผ่องใส ก่อนวันเข้าพรรษาชาวบ้านก็จะไปช่วยพระทำความสะอาดเสนาสนะ ซ่อมแซมกุฏิวิหารและอื่น ๆ พอถึงวันเข้าพรรษาก็จะไปร่วมทำบุญตักบาตร ถวายเครื่องสักการะบูชา ดอกไม้ ธูปเทียน และเครื่องใช้ เช่น สบู่ ยาสีฟัน เป็นต้น พร้อมฟังเทศน์ ฟังธรรม และรักษาอุโบสถศีลกันที่วัด บางคนอาจตั้งใจงดเว้นอบายมุขต่าง ๆ เป็นกรณีพิเศษ เช่น งดเสพสุรา งดฆ่าสัตว์ เป็นต้น อนึ่ง บิดามารดามักจะจัดพิธีอุปสมบทให้บุตรหลานของตน โดยถือกันว่าการเข้าบวชเรียนและอยู่จำพรรษาในระหว่างนี้จะได้รับอานิสงส์ อย่างสูง 

1.เทียนพรรษา ของใช้จำเป็นสิ่งแรกที่ขาดไม่ได้เลยในวันเข้าพรรษา ก็คือ เทียนพรรษา ที่มีขนาดเล่มใหญ่กว่าเทียนทั่วไปปกติ และมีให้เลือกหลายขนาดและหลายลวดลาย แต่ก็อย่าลืมถวายธูปเทียนขนาดปกติไปด้วยนะครับ ส่วนนี้สามารถใช้ได้ทั้งปีเลย 

2.หลอดไฟ ไฟฉาย อุปกรณ์ไฟฟ้า ของจำเป็นชิ้นต่อมา สมัยก่อนอาจจะไม่จำเป็นนัก แต่สมัยนี้เชื่อว่าเกือบทุกวัดไฟฟ้าเข้าถึงแล้วแน่นอน นั่นก็คือ หลอดไฟ แนะนำให้ซื้อแบบประเภทประหยัดไฟ และหลอดไฟขนาดมาตราฐาน แบบไม่ต้องเน้นทรวดทรงให้มากเดี๋ยวพระท่านจะไม่ได้ใช้กันพอดี อาจจะพ่วงอุปกรณ์ไฟฟ้า อย่างเช่น บัลลาส สตาร์ทเตอร์ เผื่อไฟเสียจะได้เปลี่ยนเลย หรือพวกไฟฉายอย่าลืมจัดถ่านไปด้วยนะ

3.ยาสามัญประจำบ้าน แน่นอนว่า หน้าฝน สภาพอากาศแปรปรวน เดี๋่ยวฝนตกเดี๋ยวแดดออก ก็อาจจะถวายเซตยาสามัญประจำวัดให้พระท่านด้วย แนะนำว่า ก่อนซื้อ สังฆทานประเภทกล่องยา อย่าลืมดู อย. จะได้อุ่นใจว่ายาใช้ได้จริงๆ หรือถ้าไม่แน่ใจก็เดินเข้าร้านขายยา ให้คุณเภสัชประจำร้านจัดให้ซัดเซตใหญ่ๆ ก็ได้ครับ เช่น ยาหม่อง ยาลม ยาอม ยาแก้ปวดท้อง แก้หวัด ยาแดง พลาสเตอร์ยา ยากันยุงต่างๆ

4.ข้าวสาร อาหารแห้ง อาหารกระป๋อง ของจำเป็นประเภทต่อมาก็เป็นแนวอาหารสำรอง พวกข้าวสาร อาหารแห้ง ที่เกี่ยวไว้ได้นานหน่อย เช่นพวก ผักดองกระป๋อง ปลากระป๋อง มาม่า น้ำเปล่า ข้าวสาร ตอนซื้ออย่าลืมเช็ควันหมดอายุข้างกระป๋องด้วยว่าใกล้หมดอายุในเร็ววันนี้หรือเปล่านะคะ

5.ผ้าอาบน้ำฝนและร่ม ของใช้จำเป็นอันต่อมาก็คือ ผ้าอาบน้ำฝน หรือ ผ้าวัสสิกสาฎก ถือว่าสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะพระท่านจะต้องใช้สิ่งนี้นุ่งห่มในการอาบน้ำในช่วงเข้าพรรษา เพราะตามพระวินัยบัญญัติ พระท่านจะเริ่มหาผ้าอาบน้ำฝนก่อนวันเข้าพรรษาประมาณ 1 เดือน ชาวพุทธจะไปถวายวันไหนก็ได้ ตามช่วงเวลานี้ เพราะหลังจากนั้น พระท่านจะต้องจำพรรษา ศึกษาธรรมสืบต่อไป

ในปี พ.ศ.2551 รัฐบาลได้ประกาศให้วันเข้าพรรษาเป็น “วันงดดื่มสุราแห่งชาติ” โดยในปีถัดมายังได้ประกาศให้วันเข้าพรรษา เป็นวันห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั่วราชอาณาจักรด้วย ทั้งนี้เพื่อรณรงค์ให้ชาวไทยตั้งสัจจะอธิษฐานงดการดื่มสุราในวันเข้าพรรษา และในช่วง 3 เดือนระหว่างฤดูเข้าพรรษา เพื่อส่งเสริมค่านิยมที่ดีให้แก่สังคมไทยด้วยนะคะ ขอขอบพระคุณข้อมูลและรูปภาพสวยด้วยนะคะ